คดีหมิ่นประมาท

ว่าความ
บริษัท เจ ที ลีเกิ้ล จำกัด
JT Legal Consult
ปรึกษาปัญหากฎหมาย ฟรี
+66 2094 0889
+66 2094 0890
จ. - ศ.
เวลาทำการ 08:30 น. - 17.30 น.
Slider

คดีหมิ่นประมาท


การติดต่อ พูดคุย หรือการกล่าวพาดพิงถึงบุคคลใด ปัจจุบันจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง จะพูดคุยสนทนากันหรือกล่าวถึงบุคคลใดโดยไม่คิดให้รอบคอบหรือคิดว่าเป็นเรื่องสนุกอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากบางคำพูดหรือบางการสนทนาอาจก่อให้ผู้อื่นต้องได้รับความเสียต่อชื่อเสียง หรืออาจทำให้ผู้อื่นต้องถูกดูถูกหรือถูกเกลียดชังได้ ซึ่งเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ได้บัญญัติความหมายและอัตราโทษไว้ว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” โดยเมื่อพิจารณาจากตัวบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีองค์ประกอบดังนี้

 

1.ผู้กระทำเจตนาใส่ความผู้อื่น

2.เป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม

3.ข้อความที่ผู้กระทำใส่ความนั้นอาจทำให้ผู้อื่น(ผู้ที่ถูกใส่ความ)ได้รับความเสียหาย ได้แก่ เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง

 

การกระทำผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องมีบุคคลสามฝ่าย ได้แก่

 

1.ผู้ใส่ความ

2.ผู้ถูกใส่ความ และ

3.บุคคลที่สาม(ผู้ฟังการใส่ความ)

 

การพิจารณาว่าข้อเท็จจริงใดเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่นั้น ศาลฎีกาได้วางหลักเกณฑ์ไว้ดังนี้ 

                             

1.จะเป็นการหมิ่นประมาทต้องไม่ใช่ข้อเท็จจริงที่เป็นเพียงคำหยาบ คำด่า หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นไปไม่ได้

2.ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่แน่นอน ไม่คลุมเครือ เลื่อนลอย หรือกล่าวด้วยความน้อยใจ กล่าวคือต้องเป็นการยืนยันในข้อเท็จจริง

3.ข้อเท็จจริงนั้นต้องไม่ใช่การคาดคะเนหรือกล่าวถึงเหตุการณ์ในอนาคตโดยจะต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันในอดีตหรือในปัจจุบัน และการหมิ่นประมาทจะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ซึ่งคำว่า "ผู้อื่น" นั้น เพียงทราบว่าหมายถึงใคร แต่ไม่จำเป็นต้องระบุชื่อคนนั้น

 

นอกจากจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 แล้ว ยังมีความผิดฐานอื่น ๆอีก ได้แก่

 

  1. การหมิ่นประมาทผู้ตาย มาตรา 327 บัญญัติว่า “ผู้ใดใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้น น่าจะเป็นเหตุให้ บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษดังบัญญัติไว้ในมาตรา 326นั้น”

  2. การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา มาตรา 328 บัญญัติว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

ดังที่กล่าวข้างต้นแล้วว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท แต่ไม่ใช่ว่าทุกการกระทำจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเสมอไป ซึ่งการกระทำที่จะไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 บัญญัติว่า “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต

 

(1) เพื่อความชอบธรรม  ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

 

การฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาท

 

ความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเป็นความผิดอันยอมความได้ กฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การฟ้องร้องดำเนินคดีจึงอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวง ซึ่งจะต้องดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดระเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องและรู้ตัวผู้กระทำความผิดด้วย มิฉะนั้นจะทำให้คดีขาดอายุความและสิทธิการฟ้องคดีอาญาระงับสิ้นไป

สอบถามเพิ่มเติม