การประกันตัวผู้ต้องหา

ว่าความ
บริษัท เจ ที ลีเกิ้ล จำกัด
JT Legal Consult
ปรึกษาปัญหากฎหมาย ฟรี
+66 2094 0889
+66 2094 0890
จ. - ศ.
เวลาทำการ 08:30 น. - 17.30 น.
Slider

การประกันตัวผู้ต้องหา


เมื่อถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งแล้วนั้น พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสืบสวนสอบสวนจนมีพยานหลักฐานเพียงพอแล้ว บุคคลนั้นอาจตกเป็นผู้ต้องหาและหากไม่อยากถูกจำคุกไว้ในระหว่างการสอบสวนและส่งตัวฟ้องคดีต่อศาล บุคคลนั้นก็จะต้องดำเนินการที่เรียกกันในหลายชื่อว่า การขอประกันตัวหรือการขอปล่อยตัวชั่วคราว ซึ่งก็หมายความถึงการขออนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการถูกควบคุมตัวโดยเจ้าพนักงานหรือโดยศาล แล้วแต่กรณี  ซึ่งการอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวหรือไม่นั้น เจ้าพนักงานหรือศาลจะพิจารณาองค์ประกอบหลายประการ อาทิเช่น ความหนักเบาแห่งข้อหาหรือความผิดที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด พฤติการณ์การหลบหนีหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือศาล เป็นต้น

 

ศาลอาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ประกันตัวได้ต่อเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

 

(1) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี
(2) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไม่ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน
(3) ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น
(4) ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ
(5) การอนุญาตให้ประกันตัวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือการดำเนินคดีในศาล

 

1.การขอประกันตัวทำได้ในชั้นใดบ้างสามารถทำได้ดังนี้

 

1.1 ชั้นฝากขังขอประกันตัวได้เมื่อผู้ต้องหาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือพนักงานอัยการนำตัวมาขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างที่ยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จ

1.2 ชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลแล้วก็จะเปลี่ยนฐานะจากผู้ต้องหาเป็นจำเลย จึงมีสิทธิขอประกันตัวต่อศาลได้ หรือในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์เมื่อศาลประทับฟ้องแล้วจะขอประกันตัวก่อนวันนัด ในวันนัดหรือหลังจากวันนัดที่ระบุในหมายเรียกให้มาแก้คดีก็ได้

1.3 ชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาที่จำเลยถูกขังหรือจำคุกโดยผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค จะขอประกันตัวก่อนที่จะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาพร้อมกัน หรือหลังจากยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาก็ได้แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ การประกันตัวในชั้นใดใช้ได้เฉพาะชั้นนั้น เมื่อชั้นของการขอประกันตัวเปลี่ยนไปต้องยื่นขอประกันตัวใหม่

 

2.บุคคลผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอประกันตัวหรือขอปล่อยตัวชั่วคราว

 

2.1 ผู้ต้องหาหรือจำเลย

2.2 ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภรรยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควรให้ประกันได้ หรือนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด สำหรับกรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นกรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วนพนักงานหรือลูกจ้างของนิติบุคคลนั้น

 

3.เอกสารที่ต้องใช้ประกอบคำร้องขอประกันตัวมีดังนี้

 

3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ

3.2 ทะเบียนบ้าน

3.3 กรณีผู้ขอประกันมีคู่สมรสจะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่

3.3.1 บัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทะเบียนบ้านของคู่สมรส

3.3.2 ใบสำคัญการสมรส

3.3.3 หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรส

3.4 กรณีชื่อเจ้าของหลักทรัพย์ไม่ตรงกับที่ปรากฏในหลักทรัพย์จะต้องแสดงเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่

3.4.1 หนังสือรับรองว่าเป็นบุคคลเดียวกันหรือหลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวชื่อสกุล

3.4.2 ใบสำคัญการสมรส

3.5 กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นชาวต่างประเทศ หากมีหนังสือเดินทาง(Passport) ต้องนำมาแสดงด้วย หากเอกสารที่ต้องนำมาแสดงในวันยื่นคำร้องขอประกันตัวไม่ครบถ้วน ผู้ขอประกันอาจขอผัดผ่อนต่อศาลเพื่ออนุญาตให้นำมาส่งในภายหลังได้

 

ขั้นตอนการขอประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย

 

1.ขอแบบพิมพ์คำร้องขอประกันตัวได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของศาล

2. เขียนคำร้องขอประกันตัวได้เอง โดยขอคำแนะนำหรือดูตัวอย่างได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ หากผู้ขอประกันเขียนหนังสือไม่ได้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะช่วยเขียนให้โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนแต่ประการใด

3.ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยลงชื่อในคำร้องขอประกันตัว หากผู้ต้องหาหรือจำเลยมิได้ถูกขังอยู่ที่ศาลเป็นหน้าที่ของนายประกันที่จะต้องนำคำร้องไปให้จำเลยหรือผู้ต้องหาลงชื่อ

4. นายประกันยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักฐานต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

5. เมื่อเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ได้ตรวจคำร้องและหลักฐานเรียบร้อยแล้วจะลงบัญชีรับเรื่องไว้เป็นหลักฐาน แล้วนำเสนอคำร้องต่อผู้พิพากษาเพื่อพิจารณาสั่งคำร้องเมื่อผู้พิพากษาสั่งคำร้องแล้วจะส่งคำร้องขอประกันกลับคืนไปที่เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

6. เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์จะแจ้งคำสั่งของศาลให้นายประกันทรา

7. หากศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันนายประกันอาจต้องวางเงินประกันค่าใช้จ่ายในการบังคับคดี โดยเจ้าหน้าที่จะออกใบรับหลักฐานการขอประกันและใบรับเงินให้

8. เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันแล้วถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลและยังไม่มีการออกหมายขังไว้เลยจะนำตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยออกจากห้องควบคุมในศาลได้เลย ถ้าหากผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่ระหว่างถูกขังตามหมายศาล เจ้าหน้าที่จะนำหมายปล่อยไปปล่อย ณ ที่ถูกคุมขัง

9.ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะถูกปล่อยตัวในวันที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

10.หากศาลไม่อนุญาตให้ประกัน ผู้ขอประกันขอรับหลักทรัพย์ที่ยื่นไว้คืนได้จากเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์

11.การขอประกันในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา ใช้หลักเกณฑ์เช่นเดียวกับที่กล่าวมาแล้ว  แต่ศาลอาจใช้ดุลพินิจเพิ่มหลักประกันจากของศาลชั้นต้นได้

สอบถามเพิ่มเติม